วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การผลิตแบบทันเวลาพอดี(Just-in-Time)


การผลิตแบบทันเวลาพอดี(Just-in-Time)


                                                                                                     
ในสภาพวิกฤติทางเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นหลายครั้งในอดีตที่ผ่านมา หลายบริษัททั่วโลกต่างได้รับผลกระทบที่เจ็บปวดจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะวิกฤติเศรษฐกิจดังกล่าว  บทเรียนจากอดีตประกอบกับสภาพการแข่งขันที่นับวันจะรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้บริษัทต่างๆมุ่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับตนเอง ทั้งนี้ไม่แต่เพียงเพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับองค์กรของตนเองเท่านั้น แต่ยังเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจอย่างยั่งยืนในทุกสถานการณ์ หลายบริษัทต่างมุ่งหาองค์กรการผลิตที่ประสบความสำเร็จจากทั่วโลก เพื่อจะค้นหาถึงคุณลักษณะของการดำเนินงานและการปฏิบัติงานของบริษัทที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกยุคปัจจุบัน และได้ค้นพบว่าคุณลักษณะของบริษัทดังกล่าวจะต้องสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง ด้วยต้นทุนที่ต่ำ และสามารถจะตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นด้าน การส่งมอบ  การออกแบบและ การเปลี่ยนแปลงขนาดรุ่นการผลิต บริษัทใดก็ตามที่สามารถทำได้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวนี้ หมายถึงว่าบริษัทดังกล่าวจะสามารถแข่งขันกับใครก็ได้  ที่ไหนก็ได้ และ สิ่งสำคัญที่จะต้องเข้าใจก็คือทั้งคุณภาพสูงและต้นทุนต่ำเป็นสิ่งที่ต้องไปด้วยกัน  และ การปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งจำเป็นต่อความมีคุณภาพสูงและต้นทุนต่ำ
ระบบการผลิตที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดในช่วงประมาณปี ค.ศ.1980 ที่มีกระบวนการในการปรับปรุงการเพิ่มผลิตภาพการผลิตโดยการเน้นคุณภาพสูงและต้นทุนต่ำ  ก็คือ ระบบการผลิตแบบทันเวลาพอดี หรือ JIT  
การผลิตแบบทันเวลาพอดี หรือที่เราเรียกสั้นๆว่าระบบการผลิตแบบ  JIT เป็นระบบการผลิตที่ได้รับ การพัฒนาและส่งเสริมโดยกลุ่มของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ในประเทศญี่ปุ่นและต่อมาได้ถูกนำไปใช้ในหลายๆบริษัทในญี่ปุ่นและแพร่หลายไปทั่วโลก  และได้ถูกเรียกชื่อแตกต่างกันไป เช่น  บริษัท GE เรียกว่า การบริหารตามสิ่งที่มองเห็น (Management by sight) บริษัท IBM (การผลิตแบบไหลต่อเนื่อง(Continuous – flow Manufacturing) บริษัท Hewlett Packard  เรียกว่า การผลิตแบบไร้สต๊อก (Stockless Production) และ การผลิตแบบซ้ำ  (Repetitive Manufacturing System) บริษัท General Motors เรียกว่าการผลิตแบบสอดคล้อง (Synchronized Production) และบริษัทในญี่ปุ่นหลายๆบริษัทเรียกว่า ระบบการผลิตแบบโตโยต้า (Toyota Production System)

ข้อเสียของการบริหารการผลิตและพัสดุคงคลังระบบเดิม
                ก่อนที่ JIT จะได้รับการพัฒนาขึ้น แนวทางในการผลิตแบบดังเดิมมาจากยุโรปและอเมริกา โดยเน้นการผลิตจำนวนมาก        โดยได้พัฒนาหลักการและวิธีการต่างๆขึ้นมารองรับดังนี้
                1. พัสดุคงคลังเป็นสิ่งจำเป็น แต่การมีมากไปจะทำให้มีค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาสูง และการมีน้อยเกินไปจะทำให้มีค่าใช้จ่ายในการจัดหาสูง จึงได้พัฒนาวิธีการคำนวณหาขนาดรุ่นการสั่งที่ประหยัด(Economic order Quantity-EOQ)  ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย
                2. เน้นการควบคุมคุณภาพด้วยการสุ่มตัวอย่างจากรุ่นการผลิตขนาดใหญ่  เพื่อความประหยัดในการตรวจสอบแต่มีความเชื่อถือได้ทางสถิติในการควบคุมของเสีย
                3. เพื่อรองรับกับความไม่แน่นอนจำเป็นต้องมี มูลภัณฑ์นิรภัย (Safety Stock) ไว้จำนวนหนึ่งเพื่อป้องกันการขาดสต๊อก
                ในมุมมองของระบบ JIT กับมีความคิดเห็นว่า หลักการและแนวคิดทั้ง 3 ประการ ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และมองเห็นข้อเสียของแนวคิดดังกล่าวมากมาย โดยทีมงานของผู้พัฒนาระบบ JIT ได้สรุปข้อเสียของระบบการบริหารการผลิตและพัสดุคงคลังแบบดังเดิม เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1.       มีการดำเนินการที่มากเกินไป (MURI)  ระบบ JIT มองว่าการสั่ง แบบ EOQ เป็นการสั่ง
ที่มากเกินไป เนื่องจาก
·       สูตร EOQ ไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ที่ได้รับจากการมีของจำนวนน้อยๆ เช่น ของ
เสียที่น้อยลง คุณภาพที่ดีขึ้น และ ความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาน้อยลง และการสื่อสารเพื่อป้อนข้อมูลกลับกรณีมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นทำได้อย่างรวดเร็วขึ้น ทำให้มีเวลาในการเรียนรู้ปัญหาและหาทางแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที
·       สูตร EOQ มองว่าต้นทุนในการสั่งซื้อหรือสั่งผลิตเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการสั่งในแต่
ละครั้ง แต่ต้องควบคุมอย่าให้มีการสั่งบ่อยครั้งเกินไป  สำหรับระบบ JIT กลับมองว่า ต้นทุนการสั่งซื้อหรือสั่งผลิตสามารถจะลดลงได้ หากมีความพยายามและได้รับความร่วมมือและจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากต้นทุนในการสั่งลดลงขนาดรุ่นของการสั่งก็ลดลงได้
2         มีการดำเนินการที่สูญเปล่า (MUDA) ระบบ JIT มองว่าถ้าสามารถพัฒนาระบบการผลิตได้
อย่างสมบูรณ์แล้ว ก็สามารถขจัดประเด็นรุ่นการผลิตออกไปได้ และไม่จำเป็นต้องมีการสุ่มตัวอย่าง เนื่องจากระบบการผลิตที่สมบูรณ์นั้น ของเสียเป็นศูนย์  ช่วงเวลานำเป็นศูนย์ การเสียของเครื่องจักเป็นศูนย์ เมื่อผนวกกับการผลิตที่ละน้อยๆ  ทำให้ระดับพัสดุคงคลังสามารถเข้าใกล้ศูนย์ได้
3         มีการดำเนินการที่ไม่สม่ำเสมอ (MURA)  ระบบ JIT มองว่าการที่เราต้องมีมูลภัณฑ์นิรภัยก็
เนื่องมาจากมีความไม่สม่ำเสมอในการผลิต หากจะขจัดมูลภัณฑ์นิรภัยให้หมดไปก็ต้องทำให้การผลิตมีความแน่นอนและสม่ำเสมอ  โดย ระบบ JIT จะค่อยๆลดมูลภัณฑ์นิรภัยลงทีละน้อยเพื่อให้ เห็นปัญหาที่เป็นสาเหตุของความไม่เสมอ หลังจากนั้นจึงวางแผนปรับปรุงแก้ไขให้มีความสม่ำเสมอเกิดขึ้นกับการผลิต

จากข้อเสียทั้ง 3 ข้อ ที่ได้กล่าวมานี้ ข้อเสียที่ใหญ่ที่สุด ที่ส่งผลกระทบต่อความสูญเสียให้กับผู้ประกอบการมากที่สุด ก็คือ ข้อเสียจากการดำเนินการที่สูญเปล่า ซึ่งระบบ JIT ได้สรุปประเด็นความสูญเปล่าที่สำคัญไว้ 7 ประการดังนี้
1.       ความสูญเปล่าจากการผลิตมากเกินไป ความสูญเสียดังกล่าวเกิดจากการผลิตมาก
เกินกว่าความต้องการของตลาด  ถ้าหากสภาวะความต้องการของตลาดมีความแน่นอนปัญหาข้อนี้ก็คงจะไม่ส่งผลมาก แต่เนื่องจากสภาวะการตลาดมีความผันผวนขึ้นลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้บริษัทไม่สามารถวางแผนการผลิตได้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ส่งผลให้มีการขาดสต๊อกเกิดขึ้นบ่อยๆ  ทำให้มีการสะสมของพัสดุคงคลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งความสูญเสียที่ตามมาจากการมีพัสดุคงคลังที่เพิ่มขึ้น  เช่นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และ ความสูญเสียจากการใช้พื้นที่คลังเก็บสินค้า
2.       ความสูญเปล่าจากการรอคอย  เช่นการรอคอยที่เกิดจากการสะสมของงานหรือ
ใบสั่งงาน ตามขั้นตอนการผลิต  การรอคอยทำให้การไหลของงานหยุดชะงัก และ ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มกับผลิตภัณฑ์หรือบริการที่บริษัททำอยู่ แต่กลับทำให้เวลาผ่านไปโดยสูญเปล่า  ส่งผลกับต้นทุนจมที่เพิ่มขึ้น และ ช่วงเวลานำในการส่งมอบที่ยาวนานขึ้น
3.       ความสูญเปล่าจากการขนย้าย การขนย้ายวัสดุภายในโรงงาน ระบบ JIT มองว่า
เป็นความสูญเปล่าอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต ทั้งนี้เนื่องจากการเคลื่อนย้ายวัสดุจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มกับวัสดุดังกล่าว แต่มีค่าใช้จ่ายในการขนย้ายเกิดขึ้น จึงต้องพยายามลดการขนย้ายและการเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้มากขึ้นระหว่างการขนย้าย
4.       ความสูญเปล่าในกระบวนการผลิตเอง  กระบวนการผลิต เป็นปัจจัยที่สำคัญใน
การแปรรูปผลิตภัณฑ์ แต่ถ้าเราสามารถขจัดกระบวนการผลิตที่ไม่มีความจำเป็นออกไปได้  ก็จะสามารถขจัดความสูญเปล่าที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการผลิตออกไปได้ ยกตัวอย่างเช่น ชิ้นงานหล่อโลหะ เมื่อทำการหล่อเสร็จแล้ว อาจจะต้องมีการตะไบเพื่อตบแต่งผิวโลหะ  ซึ่งหากเรามีเทคนิคการหล่อโลหะที่ดี ขั้นตอนการตะไบก็อาจจะไม่มีความจำเป็น
5.       ความสูญเปล่าจากจากการเก็บพัสดุคงคลัง   จากแนวคิดที่ว่าพัสดุคงคลังเป็น
สิ่งจำเป็น เพื่อทำให้มั่นใจว่าการผลิตจะสามารถดำเนินไปได้อย่างสม่ำเสมอและมีสินค้ารองรับกับความต้องการที่ไม่แน่นอนได้ตลอดเวลา แต่ระบบ JIT กลับมองว่าการมีพัสดุคงคลังมากเกินความจำเป็นเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผลิตภัณฑ์  เพราะต้องเพิ่มเนื้อที่ ในการจัดเก็บพัสดุคงคลังเหล่านั้นมากขึ้นและ เสียดอกเบี้ยจากต้นทุนจมมากขึ้น เพิ่มพนักงานในการดุแลพัสดุคงคลังมากขึ้น งานเอกสารเพิ่มขึ้นเป็นต้น
6.       ความสูญเปล่าจากการเคลื่อนไวที่ไม่เหมาะสมของพนักงาน  การเคลื่อนไหวที่ไม่
เหมาะสม อาจหมายถึงการเคลื่อนไหวที่ไม่จำเป็น  เคลื่อนไหวแล้วไม่เกิดมูลค่าเพิ่ม หรือการเคลื่อนไหวที่ไม่ถูกตามหลักการยศาสตร์ ทำให้ใช้เวลาทำงานมากเกินไป เกิดความเหนื่อยล้าได้ง่าย หรืออาจจะหมายถึงใช้คนทำงานที่ไม่เหมาะสม  เช่น ให้พนักงานฝ่ายผลิต ต้องหยุดการผลิตทุกครั้ง ที่เปลี่ยนงานใหม่เพื่อจัดหาและจัดเตรียมวัสดุและเครื่องมือสำหรับการผลิตงานชิ้นใหม่  แทนที่จะให้เป็นหน้าที่ของผู้ควบคุมงาน เป็นต้น  

7.       ความสูญเปล่าจากผลิตภัณฑ์ไม่มีคุณภาพ  หรือผลิตของเสีย  มีปัญหาเกิดขึ้น
ตามมาหลายอย่างจากการผลิตของเสีย เช่น เกิดความล่าช้าในการส่งมอบ เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น  เสียเวลา และ แรงงาน เสียเวลาในการตรวจสอบ และที่จะส่งผลกระทบเสียหายรุ่นแรงกว่านั้นก็คือ หากของเสียนั้นส่งไปถึงมือลูกค้า นอกจากจะเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมแล้วยังก่อให้เกิดความรู้สึกในแง่ลบกับลูกค้าที่มีต่อผลิตภัณฑ์และ ชื่อเสียงของบริษัท ซึ่งหากเกิดขึ้นบ่อยก็จะส่งผลกระทบถึงการตลาดของบริษัทถึงขั้นอาจทำให้สูญเสียส่วนแบ่งด้านการตลาด

ปรัชญาและแนวคิด ของJIT
            เป้าหมายของ JIT คือ มุ่งพัฒนาระบบการผลิตสู่เป็นเลิศ  โดยเน้นการขจัดความสูญเสียในกระบวนการผลิตให้หมดไป  มีปรัชญา แนวคิดและวิธีปฏิบัติงานมากมายที่ถูกนำมาใช้เพื่อให้บรรลุสู่เป้าหมายของ JIT  ซึ่งสรุปเป็นประเด็นสำคัญได้ดังนี้
1. การขจัดความสูญเปล่า ซึ่ง หมายถึง สิ่งใดๆที่ไม่เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์หรือบริการจะต้องถูกขจัดให้หมดไป  คุณค่าในความหมายของ JIT คือ สิ่งใดๆที่สามารถเพิ่มความมีประโยชน์ให้กับผลิตภัณฑ์และบริการที่ส่งมอบให้กับลูกค้า หรือ ลดต้นทุนให้กับลูกค้า
2.  เป้าหมายของ JIT คือ การเดินทาง มิใช่จุดหมายปลายทาง  การเดินทางของ JIT  ไม่เคยสิ้นสุด แต่ให้ผลตอบแทนในแต่ละระยะที่ก้าวเดินไป
3.  พัสดุคงคลังคือความสูญเสีย การมีพัสดุคงคลังทำให้ปัญหาต่างๆที่ควรได้รับการแก้ไขถูกปกปิดไว้ ความสูญเสียนี้ต้องขจัดอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยการค่อยๆ ขจัดพัสดุคงคลังจากระบบลงที่ละเล็กทีละน้อย  แล้วคอยแก้ไขปัญหาที่ติดตามมา หลังจากนั้นจึงขจัดพัสดุคงคลังให้มากขึ้น
4. ลูกค้า คือ คำจำกัดความของ  คุณภาพ  บรรทัดฐาน ของลูกค้าที่ประเมินค่าของผลิตภัณฑ์ ควรจะถูกนำมาใช้ในการขับเคลื่อนการออกแบบผลิตภัณฑ์และระบบการผลิต  กรณีดังกล่าวนี้เป็นการบอกเป็นนัยว่าแนวโน้มกำลังมุ่งสู่การผลิตผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของลูกค้า  (customized Product) มากขึ้นทุกที
5. ความยืดหยุ่นในการผลิต (Manufacturing Flexibility) ซึ่งครอบคลุมถึง ความรวดเร็วในการตอบสนองต่อกำหนดส่งมอบของลูกค้า ความรวดเร็วในการเปลี่ยนแปลงการออกแบบ และการเปลี่ยนแปลงด้านปริมาณการผลิต นับว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญที่จะต้องสามารถรักษาระดับความคุณภาพสูงและต้นทุนต่ำไว้ได้ด้วย  ขณะที่ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
6. ให้ความเคารพและการสนับสนุนซึ่งกันและกันบนพื้นฐานของความจริงใจและความเชื่อใจ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กร พนักงานขององค์กร ผู้ส่งมอบ  และลูกค้า
7. การทำงานเป็นทีมเป็นสิ่งจำเป็นต่อการบรรลุสู่ขีดความสามารถการผลิตระดับโลก ผู้บริหาร   ฝ่ายสนับสนุน และฝ่ายปฏิบัติการ จะต้องเข้ามามีส่วนร่วม    สิ่งนี้ได้บอกเป็นนัยว่า พนักงานจะต้องมีความยืดหยุ่นมากขึ้น มีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้น และได้รับมอบหมายให้มีอำนาจในการตัดสินใจมากขึ้น
8. พนักงานผู้ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงาน มักจะเป็นแหล่งที่ให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงการทำงานได้ดีที่สุด สิ่งสำคัญก็คือเราต้องจ้างสมองของพนักงานด้วยไม่ใช่จ้างแต่แรงของพนักงานเท่านั้น

ปัจจัยพื้นฐานการผลิตแบบ JIT
                จากประวัติศาสตร์นับย้อนหลัง 30 -40 ปีที่ผ่านมา ได้พิสูจน์ให้เป็นที่ประจักแก่นักบริหารธุรกิจและนักวิชาการ ทั่วโลกว่า บริษัทโตโยต้า ผู้พัฒนาระบบ JIT สามารถทำกำไรได้อย่างยั่งยืนโดยการลดต้นทุนผ่านระบบการผลิตที่มีการขจัดความสูญเสีย ด้านทรัพยากรและวัสดุคงคลังส่วนเกินได้อย่างสมบูรณ์  ซึ่งอาจจะไม่เป็นการกล่าวเกินเลยไปถ้าจะกล่าวว่า ระบบการผลิตแบบ JIT คือการปฏิวัติระบบการผลิตแบบดังเดิมอีกครั้งหนึ่ง  นับตั้งแต่ระบบ ของเทเลอร์ (Taylor system) หรือ ที่เรียกว่าการบริหารงานตามหลักวิทยาศาสตร์ (Scientific management)  และระบบการผลิตของ ฟอร์ด (Ford System)  ซึ่งเป็นการพัฒนาสายงานประกอบปริมาณมาก (Mass- Assembly Line)
                ปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่สนับสนุนความสำเร็จของ JIT สามารถจะสรุปได้ 3 ประเด็นคือ
1.       การมีส่วนร่วมของพนักงาน  (People Involvement)
2.       การควบคุมคุณภาพโดยรวม  (Total Quality Management)
3.       ระบบการผลิตแบบทันเวลาพอดี  (Just-in-Time  Production)

 การมีส่วนร่วมของพนักงาน  (People Involvement)
ความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการบริหารแผนงาน และการตัดสินใจสามารถจะดู
ได้จากพฤติกรรมการแสดงออกของพนักงานที่ปฏิบัติงานอยู่ภายในองค์กร ระบบการผลิตแบบ JIT จะประสบความสำเร็จได้ จะต้องมีการฝึกฝนพนักงาน ให้มีทักษะ และ เข้าใจแก่นของการผลิตแบบ JIT   พนักงานต้องมีระเบียบวินัยและมีความรับผิดชอบสูง อีกทั้งต้องสามารถประสานการทำงานร่วมกันเป็นทีมได้  ต้องมีการจูงใจให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องนับตั้งแต่ผู้ส่งมอบ ผู้รับเหมาช่วง และ พนักงาน เข้ามามีส่วนร่วม 
                1. การทำงานเป็นทีม (Team work)  ระบบ JIT เป็นระบบที่ต้องอาศัยการทำงาน
ประสานงานกันของทุกฝ่าย ไม่ใช่ทำตามแผนงานเพียงอย่างเดียว แต่ทุกคนต้องช่วยกัน ทุกคนมีอิสระในด้านความคิดในการทำงานเพื่อให้บริษัทมีการพัฒนาขึ้น และ บริษัทก็ต้องการคำแนะนำใหม่ๆเสมอ เพื่อผลประโยชน์ของบริษัท
                2. วินัยการทำงาน (Discipline)  พนักงานแต่ละคนมีอิสระในการทำงานตามวิธีที่ตน
เลือกโดยอยู่ในขอบเขตมาตรฐานการทำงานที่ได้กำหนดไว้ การทำงานเป็นมาตรฐาน จะช่วยป้องกันการผันแปรในคุณภาพของสินค้าและบริการ ซึ่งความผันแปรนี้เป็นสาเหตุของของเสียและข้อบกพร่อง อย่างไรก็ตามความพยายามในการทำงานให้ดีที่สุดต้องอยู่บนพื้นฐานของการมีระเบียบวินัยและการทำงานเป็นทีมด้วยจึงจะสามารถนำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพและการทำงานให้ดีขึ้น
3. การมีส่วนร่วมของผู้ส่งมอบ (Supplier Involvement) ในระบบ JIT มักต้องการ
ความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับผู้ส่งมอบและสร้างความร่วมมือในระยะยาวโดยการทำสัญญาระยะยาว  บ่อยครั้งที่ผู้ส่งมอบจะคอยให้คำแนะนำในการปรับปรุงคุณภาพและขีดความสามารถในการผลิต  เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาขีดความสามาร ความร่วมมือระหว่างบริษัทกับผู้ส่งมอบจะอยู่บนผลประโยชน์ร่วม เพื่อให้มีการส่งมอบตรงเวลา และมีราคาที่เหมาะสมกันทั้ง 2 ฝ่าย บริษัทอาจจะช่วยพัฒนาขีดความสามารถด้านคุณภาพและการผลิตกับผู้ส่งมอบ บริษัทอาจจะส่งแผนการผลิตและตารางการผลิตให้กับผู้ส่งมอบเพื่อทำให้สามารถวางแผนธุรกิจ เช่น ด้านงบประมาณ และกำลังการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ที่สำคัญจะต้องมีการประสานร่วมกันทำงานเป็นทีม

การควบคุมคุณภาพโดยรวม  (Total Quality Control)
                ระบบการผลิตแบบ JIT มีหลักคิดเกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพโดยรวมดังนี้

1.  คุณภาพเป็นงานของทุกคน  (Quality is every body’s job)   คุณภาพของ
ผลิตภัณฑ์และบริการ คือความสามารถของบริษัทที่จะสนองตอบต่อความพึงพอใจของลูกค้า ดังนั้นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพจึงเกี่ยวข้องกับทุกๆแผนก และทุกๆคนในบริษัท โดยเริ่มจากเจ้าหน้าที่การตลาด ต้องรู้ความต้องการของลูกค้า บอกถึงคุณลักษณะและคุณสมบัติของสินค้าที่ลูกค้าต้องการได้ ส่วนฝ่ายวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ และงานวิศวกรรมจะต้องสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ได้ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้อย่างประหยัดและสามารถนำไปใช้ได้จริง รวมถึงต้องมีคุณภาพที่น่าเชื่อถือ พนักงานต้องได้รับการฝึกฝนและจูงใจให้มีความตั้งใจและทุ่มเทให้กับการทำงาน  มีความพยายามที่จะทำงานให้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ  เพื่อตอบสนองตอบต่อความต้องการของลูกค้า
2. กระบวนการถัดไปคือลูกค้า  (The Immediate Customer) คำว่า ลูกค้ามีความหมาย
กว้างมาก บริษัทที่ไม่ได้ใช่ระบบ JIT อาจจะกล่าวว่า ลูกค้า คือบุคคลที่อยู่นอกบริษัทผู้ซื้อสินค้าและลูกค้า ส่วนบริษัทผู้ใช้ JIT ให้ความหมายของลูกค้าครอบคลุมถึงลูกค้าภายในด้วย ซึ่งหมายถึงกระบวนการถัดไปคือลูกค้า  เพราะถ้าทุกคนคิดว่ากระบวนการถัดไปคือลูกค้า ก็จะมีของเสียในกระบวนการผลิตเกิดขึ้นน้อยหรือไม่มีเลย เนื่องจากทุกคนต้องพยายามส่งของดีไปให้ลูกค้า
3. คุณภาพที่แหล่งกำเนิด  (Quality at the source)  พนักงานทุกคนต้องมีความ
รับผิดชอบต่อคุณภาพของงานที่ตนเป็นผู้ทำ ทุกคนจะได้รับการฝึกฝนให้มีทักษะ และมอบหมายความรับผิดชอบ ในการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพด้วยตนเอง เพื่อมิให้มีความผิดพลาดหรือความผันแปรในคุณภาพของการทำงานและยังเป็นการประหยัดแรงงาน พนักงานทุกคนจะได้รับการฝึกฝนให้รู้ว่า อะไรคือของเสีย  และเกิดจากอะไร และจะหาวิธีป้องกันได้อย่างไร เพื่อจะทำให้การแก้ไขปัญหาสามารถทำได้อย่างทันท่วงที  บางครั้ง ของเสียหรือข้อบกพร่องอาจถูกตรวจพบจากขั้นตอนถัดไป ซึ่งบางครั้งคนทำงานเองอาจจะมองไม่เห็น
4. ทำให้เป็นวัฒนธรรม มิใช่ทำตามแผน  (A Culture , Not a Program)     อีกแนวคิด
หนึ่งของการควบคุมคุณภาพโดยรวมก็คือ การควบคุมคุณภาพเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างไม่มีจุดสิ้นสุด ระดับคุณภาพไม่มีคำว่าดีที่สุด ไม่มีเพียงพอ มีแต่จะต้องทำให้ดีกว่า ทุกคนจะต้องพยายามมองหาแนวทางที่จะทำให้คุณภาพดีขึ้นเรื่อยๆ มีการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์และกระบวนการอยู่ตลอดเวลา เพื่อลดความผิดพลาดในกระบวนการผลิต

การผลิตแบบ JIT (JIT Production)
หัวใจสำคัญในการขจัดความสูญเปล่า คือ การผลิตเฉพาะสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ในอัตรา
เดียวกันกับที่ลูกค้าต้องการ และด้วยคุณภาพที่สมบูรณ์แบบ  ระบบการผลิต แบบ JIT คือกลไกการจัดการผลิตที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์ดังกล่าว ซึ่งสิ่งที่ระบบ การผลิตแบบ JIT พยายามจะชี้ให้มองเห็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายที่สำคัญ คือปัญหาจากแถวคอย
ปัญหาที่มองไม่เห็นอันเนื่องมาจากแถวคอย 
แถวคอยหรืองานระหว่างผลิตที่เกิดขึ้นหน้าหน่วยงานมักจะส่งผลกระทบต่องานที่
ตามมา คือ ทำให้งานเกิดการหยุดชะงัก และ ทำให้เวลาในการส่งมอบยาวนานขึ้น ดังนั้นจึงต้องคอยควบคุมจำนวนแถวคอยไม่ให้มากเกินไปหรือให้หมดไป  แถวคอยอาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุหลายประการ เช่นจากการผลิตไม่สมดุล การวางผังโรงงานตามกระบวนการผลิต เครื่องจักรเสีย ใช้เวลาตั้งเครื่องนาน มีปัญหาด้านคุณภาพ และ การขาดงานของพนักงาน   ปัญหาที่เกิดจากการมีแถวคอยของงานมักเป็นปัญหาที่ซ่อนอยู่ และไม่ได้รับความสนใจ  เช่นใช้พื้นที่ในการวางกองชิ้นงานมากขึ้นและนานขึ้น  ใช้กำลังคนอย่างสูญเปล่าในการผลิตและการขนย้ายทั้งๆ ที่ยังไม่มีความต้องการ (ขนไปคอย) ใช้พลังงานอย่างสูญเปล่า เป็นต้น
แถวคอยคือความสูญเปล่าที่ต้องขจัด
                ในการผลิตแบบตามสั่ง แถวคอยจะส่งผลให้การผลิตต้องใช้ช่วงเวลานำ (Lead Time)ยาวนานขึ้น ส่วนในกรณีเป็นการผลิตเพื่อสต๊อก แถวคอยจะส่งผลให้มีพัสดุคงคลังครอบครองมากเกินไป ทำให้ต้นทุนพัสดุคงคลังสูงขึ้น  ดังนั้นจากแนวทางการผลิตของ JIT ที่จะผลิตแต่สิ่งที่ลูกค้าต้องการ(ทั้งลูกค้าภายในและภายนอก ในอัตราและเวลาเดียวกันกับที่ลูกค้าต้องการ  โดยให้ความต้องการของลูกค้าเป็นกำหนดปริมาณการผลิตและขับเคลื่อนความต้องการใช้วัตถุดิบ ผ่านกลไกของระบบคัมบัง เรียกว่าการควบคุมการไหลด้วยวิธีการดึงจากความต้องการใช้ของลูกค้า ด้วยกลไกดังกล่าวส่งผลให้ พัสดุคงคลังที่เป็นงานระหว่างผลิตลดลง การใช้เงินหมุนเวียนลดลง ลดพื้นที่ในการเก็บสต๊อกวัตถุดิบ  และ สต๊อกงานระหว่างผลิตลง  และหากกลไกของระบบคัมบังสามารถจะกำหนดให้มีการไหลของการผลิตได้ครั้งละหน่วยอย่างสมบูรณ์แบบ พัสดุคงคลังทุกประเภทก็ไม่มีความจำเป็นอีกต้อไป 
การผลิตแต่สิ่งที่ลูกค้าต้องการตามที่กล่าวถึงข้างตน ก็เป็นการสร้างความมั่นใจว่าเราจะผลิตแต่สิ่งที่ขายได้
                การผลิตแต่สิ่งที่ขายได้ มีหลักการโดยสรุปอยู่ 2 ประการคือ
1. ต้องควบคุมไม่ให้มีการผลิตมากเกินความต้องการ หรือ เกินกว่าอัตราที่ลูกค้าต้องการ โดยการควบคุมความเร็วในการผลิตให้เหมาะสม ซึ่งระบบ JIT ได้เรียกความเร็วในการผลิตที่เหมาะสมนี้ว่าเเทคทาม(Takt Time) ซึ่งหมายถึง รอบเวลาการผลิตต่อหน่วยที่จะทำให้ผลิตผลิตภัณฑ์ได้ตามที่ลูกค้ากำหนดส่งมอบที่ลูกค้าต้องการ และ ไม่เกินไปกว่าที่ลูกค้าต้องการ จนทำให้เกิดสินค้าคงคลัง โดยมรสูตรในการคำนวณดังต่อไปนี้
                                                                                                                                              
ในการคำนวณรอบเวลาการผลิตที่เหมาะสมจะทำการคำนวณเดือนละครั้ง นั่นคือจะมีการปรับความเร็วในการผลิตเดือนละครั้งเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า
        
               2. ลดเวลาในการผลิตต่อรุ่นให้สั้นลง  เพื่อให้ลูกค้าไม่ต้องเสียเวลาคอยนาน การที่เราจะลดเวลาการผลิตได้ก็จะต้องลดขนาดรุ่นให้เล็กลง และทำการผลิตแบบผสมรุ่น  และผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมาจากสายการผลิตออกมาแต่ละรุ่น ก็จะต้องได้รับการส่งมอบให้ลูกค้าตามลำดับ อย่างไรก็ตามกระบวนการผลิตที่สามารถจะทำการผลิตแบบผสมรุ่นด้วยขนาดรุ่นการผลิตเล็กๆ จะต้องมีความรวดเร็วในการเตรียมการผลิตหรือตั้งสายการผลิตที่ไม่แพง (Quick , Inexpensive Setup)  เพราะต้องมีการเปลี่ยนรุ่นการผลิตบ่อย และคนงานจำเป็นต้องฝึกให้มีความสามารถหลากหลายมากขึ้น สามารถทำงานข้ามสายงานได้

             ระบบ คัมบัง (Kanban System)
                ระบบคัมบัง ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบการผลิตแบบ JIT  โดยใช้ระบบดึง ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร เพื่อให้การผลิตในแต่ละขั้นมีจังหวะความเร็วในการผลิตที่สอดคล้องกัน เป็นการควบคุมการไหลของงาน  คัมบังเป็นภาษาญี่ปุ่น แปลว่า บัตร หรือ  สัญญาณ ที่บ่งบอกให้รู้ถึงความต้องการว่าให้ทำอะไร จำนวนเท่าไร  โดยทั่วไปจะมีลักษณะเหมือนบัตรที่บรรจุสารสนเทศต่างๆที่จำเป็นต่อการผลิต (แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นบัตรเสมอไป อาจเป็น ภาชนะ หรือ พื้นที่ทำงาน หรือ สัญญาณไฟ  ทั้งนี้แล้วแต่ความเหมาะสมกับการใช้งาน)  โดยจุดเริ่มต้นของการดึงมาจากความต้องการของลูกค้า  ซึ่งเป็นผู้ดึงผลิตภัณฑ์จากโรงงานออกไป ทางโรงงานก็จะเริ่มทำการผลิตผลิตภัณฑ์เข้ามาทดแทน หลังจากนั้นกระบวนการถัดไปทางต้นน้ำก็จะถูกดึงให้ทำการผลิตตามๆกันมา ตั้งแต่กระบวนการสุดท้ายจนกระทั่งถึงการดึงวัตถุดิบจากผู้ส่งมอบ  คัมบังโดยทั่วๆ ไปจะแบ่งออกเป็น 2  ชนิดคือ คัมบังที่ใช้ในการสั่งผลิต และ คัมบังที่ใช้ในการเบิกวัสดุ  ดังแสดงตัวอย่างในรูปที่ 7
จากรูป เป็นตัวอย่างของระบบคัมบัง 2 ใบ บัตร P จะมีความหมายถึงบัตรคัมบังสั่งผลิตและบัตร M จะหมายถึงคัมบังเบิกหรือถอนหรือเคลื่อนย้ายชิ้นงาน ในรูปเป็นการแสดงการการประสานงานกันระหว่าง 2 หน่วยผลิต หน่วยหนึ่งสมมติว่าเป็นหน่วยของผู้ใช้  อีกหน่วยหนึ่งถือว่าเป็นหน่วยของผู้ส่งมอบชิ้นส่วน  เมื่อหน่วยงานผู้ใช้ มีความต้องการใช้ชิ้นส่วนเพื่อทำการผลิต ก็จะไปนำชิ้นส่วนมาจากหน่วยงานของผู้ส่งมอบ โดยใช้บัตร M ใส่ภาชนะเปล่าแล้วเคลื่อนย้ายชิ้นส่วนไปหน่วยงานผู้ส่งมอบ เมื่อไปถึงจึงนำบัตร M ใส่ลงไปแทนที่ภาชนะที่มีชิ้นส่วนที่ต้องการอยู่แล้ว  บัตรM จะเสมือนเป็นใบอนุญาตให้เราทำการเคลื่อนย้ายได้ หรือเบิกกลับไปยังหน่วยงานผู้ใช้ได้ แต่ก่อนที่จะเคลื่อนย้ายภาชนะบรรจุชิ้นส่วนกลับไปจะต้องเอาบัตร P ซึ่งปกติจะเสียบอยู่ในกล่องภาชนะที่บรรจุชิ้นส่วนไว้  ออกมาแขวนไว้ที่ป้าย เพื่อเป็นการสั่งให้พนักงานของหน่วยผลิตผู้ส่งมอบทำการผลิตชิ้นส่วนทดแทนชิ้นส่วนที่ถูกเบิกถอนไป พนักงานหน่วยผลิตผู้ส่งมอบเมื่อเห็นบัตร P ก็จะทำการผลิตชิ้นส่วนขึ้นมาทดแทนตามชนิดและจำนวนที่กำหนดไว้ในในบัตร P เมื่อผลิตเสร็จแล้วก็นำบัตร P มาใส่ไว้ในภาชนะที่มีชิ้นส่วนที่ผลิตขึ้นมา การทำงานจะวนเวียนซ้ำอยู่เช่นนี้ตาม ชนิดของชิ้นส่วน อัตราเร็วของชิ้นส่วน และต่อเนื่องไปเรื่อยๆจนถึงขั้นตอนผลิตต้นน้ำ

            จากที่ได้กล่าวมาข้างตนพอจะสรุปได้ว่า ระบบการผลิตแบบ JIT จะเป็นระบบการผลิตที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ในทุกสถานการณ์ด้วยความคล่องตัว และไร้ความสูญเสีย ตามเจตนารมณ์ และอุดมการนั้นจำเป็นต้องมีการองค์ประกอบสนับสนุนหลายอย่าง ซึ่งผู้บริหารที่คิดจะนำระบบ JIT เข้ามาใช้ในองค์กรของตนจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตและสภาพแวดล้อมในองค์กรของตนให้เข้าใกล้แนวทางของJIT ให้ได้มากที่สุด ซึ่งแนวทางดังกล่าวพอสรุปได้ดังนี้
1.       ต้องมีการจัดสมดุลการไหลในสายการผลิต โดยจัดให้แต่ละสถานีงานมีภาระงานเท่ากัน
(มิใช่กำลังการผลิตที่สมดุลหรือเท่ากัน) และสามารถรองรับการผลิตผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายต้องกำจัด
เวลาในการตั้งเครื่องหรือเตรียมเครื่อง (Setup Time) ในการเปลี่ยนแปลงรุ่นการผลิต ให้หมดไปหรือให้เหลือเวลาให้น้อยที่สุด โดยอาจจะตั้งเป้าหมายไว้ว่าทุกกระบวนการผลิตที่สำคัญ จะต้องใช้เวลาในการเตรียมเครื่องหรือตั้งเครื่องไม่เกิน 10 นาที       
2.       ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนาทางด้านผลิตภัณฑ์ และ วิศวกรรมการ
ผลิต รวมทั้งการปรับปรุงการทำงานอย่างต่อเนื่อง
3.       ลดขนาดรุ่นของการผลิตในแต่ละครั้ง (Small lot size) ตามแนวทางของ JIT ขนาดของรุ่น
การสั่งซื้อหรือสั่งผลิตจะต้องพยายามให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และมีความถี่ในการสั่งสูง อาจจะวันละหลายเทียว ในกรณีของการผลิต จะต้องกำจัดเวลาในการตั้งเครื่องให้เหลือน้อยที่สุด (เข้าใกล้ศูนย์) ส่วนในกรณีของการสั่งซื้อ ผู้ส่งมอบต้องอยู่ไม่ไกลเกินไปและต้องได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้ส่งมอบ  ซึ่งความร่วมมือในลักษณะดังกล่าวอาจจะเกิดจากความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันมายาวนาน มีความเชื่อถือได้ ทั้งในด้านคุณภาพ ราคา และ การส่งมอบ (ตรงเวลา สถานที และครบตามจำนวน)
4.       พัฒนาให้พนักงานมีความชำนาญหลายอย่าง สามารถทำงานแบบข้ามสายงาน
 เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น สามารถรองรับกับความต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งชนิดและจำนวน  ความชำนาญหลายด้านของพนักงานหมายถึงพนักงานคนเดียวสามารถควบคุมหรือปฏิบัติงานได้กับหลายเครื่องจักรและหลายกระบวนการ เช่นงาน ผลิต งานซ่อมบำรุง และงานตรวจสอบ เป็นต้น
5.       มีระบบการบำรุงรักษาที่มีประสิทธิผล สามารถดูแลเครื่องจักรให้มีความพร้อมในการใช้
งานได้อย่างมีคุณภาพตลอดเวลา การบำรุงรักษาเชิงป้องกันเป็นสิ่งจำเป็น ในระบบ JIT จะใช้แนวทาง การซ่อมบำรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่ทุกคนมีส่วนร่วม หรือที่เรียกสั้นๆว่า TPM (Total Productive Maintainance) ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะให้พนักงานฝ่ายผลิตเข้ามามีบทบาทในการบำรุงรักษาเครื่องจักรด้วย ในการผลิตแบบ JIT เครื่องจักรจะได้รับโอกาสในการซ่อมบำรุงมากกว่าการผลิตปริมาณมาก
               6.   ต้องสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีระดับคุณภาพสูงได้อย่างสม่ำเสมอ (Consistently High Quality Level) คุณภาพของผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งที่จำเป็นมากในระบบการผลิตแบบ JIT   หลักการควบคุมคุณภาพของ JIT เน้นการมีส่วนร่วมของพนักงานทุกคน และควบคุมคุณภาพที่กระบวนการ หรือ แหล่งที่ผลิตผลิตภัณฑ์
                7.  มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับผู้ส่งมอบ  ระบบการผลิตแบบ JIT ต้องการความสัมพันธ์ที่สร้างอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์รวมกัน มีความเชื่อถือได้ และมีความร่วมมือกันในการยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถของตนเองอยู่เสมอ
                8. มีการปรับปรุงการทำงานอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement)  เป้าหมายของ JIT คือ การพัฒนาอย่างไม่สิ้นสุด โดยมุ่งเน้นการผลิตที่ไหลลื่นอย่างคล่องตัว สม่ำเสมอ ของวัสดุที่มีคุณภาพทั่วทั้งระบบ โดยไม่เกิดการสะดุด ความสำเร็จจะทำได้มากน้อยเพียงไรขึ้นอยู่กับความสามารถในการขจัดอุปสรรคยุ่งยากในระบบให้หมดไป และพัฒนาระบบการผลิตที่เป็นเลิศ ขึ้นมาแทน ดังนั้นการปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องอยู่คู่กับระบบ JIT ตลอดไป

              บทสรุปและวิจารณ์ เกี่ยวกับ JIT
                ระบบ การผลิตแบบ JIT  เป็นระบบการผลิตที่เป็นเลิศ พัฒนาขึ้นโดยยึดตลาดหรือความต้องการของลูกค้าศูนย์กลาง  เป็นแนวคิดที่ทำให้ธุรกิจมีขีดความสามารถในการแข่งขันและอยู่รอดได้ในทุกสถานการณ์  สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้หลากหลาย คุณภาพสูง ในเวลาที่รวดเร็ว และต้นทุนต่ำ  อย่างไรก็ตามความสำเร็จของระบบ JIT จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกๆคนและทุกๆระดับ รวมทั้งผู้ส่งมอบ  ชาวญี่ปุ่นได้รับความสำเร็จมากภายใต้แนวคิดดังกล่าวนี้ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจากการยึดมั่นในพันธะ และ การให้ความร่วมมือ เป็นสิ่งที่ฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่น ดังนั้นการปรับเปลี่ยนสู่ระบบ JIT  จึงต้องตระหนักในคุณค่าความร่วมมือ และยืดหยัดในความพยายามของผู้บริหารที่จะค่อยๆปลูกฝังความมีน้ำใจ (Spirit) เข้าไปในจิตสำนึกของผู้ร่วมงานทีละน้อยและรักษาความมีน้ำใจดังกล่าวมิให้ลดน้อยถอยลง 
                อีกประการหนึ่งในความสำเร็จของระบบ JIT ก็คือ การทำให้ผู้ปฏิบัติงานทุกระดับ มองเห็น รู้และ เข้าใจได้ เป็นเรื่องง่ายๆ  เป็นการนำองค์ความรู้ด้านการบริหารระบบการผลิตที่มีความเป็นเลิศ มีความยุ่งยากซับซ้อน มาอธิบายในเชิงปรัชญา แนวคิด และวิธีปฏิบัติ ที่พนักงานทุกระดับโดยเฉพาะระดับล่างซึ่งเป็นพนักงานส่วนใหญ่ของบริษัท ฟังแล้วเข้าใจได้ถึงความมีเหตุและผล และเมื่อนำสู่การปฏิบัติก็ง่ายในการที่จะปฏิบัติตาม  พิสูจน์ได้ เห็นได้ด้วยตา สิ่งนี้แสดงถึงความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการพัฒนากลยุทธ์ของการสื่อสาร ที่สื่อสารทั้งองค์ความรู้และสื่อสารวิธีปฏิบัติงาน ไปทั่วทุกอนูขององค์กร ทำให้การดำเนินไปขององค์กรเป็นไปอย่างเข็มแข็งและในทิศทางเดียวกัน
                องค์ความรู้ของระบบการผลิต แบบ JIT จะดีเลิศเพียงใดก็ตามหากไม่สามารถนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาได้ พนักงานฟังแล้วยากจะเข้าใจ ปฏิบัติตามได้ยาก  องค์ความรู้ดังกล่าวไม่อาจจะนับว่าเป็นความรู้ที่แท้จริง    และนี่คือสัจจะทำข้อหนึ่ง ที่สามารถเรียนรู้ได้จากระบบการผลิตของ  JIT

สรุป
                ปัจจุบันทั้งระบบ MRP และ ระบบ JIT ต่างได้รับการยอมรับและนำไปใช้กันอย่างแพร่หลายในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลก ถึงแม้หลักการและแนวทางในการดำเนินการผลิตหลายๆประการจะแตกต่างกันแต่ก็มี เป้าหมายที่คล้ายคลึงกันคือลดพัสดุคงคลัง เพิ่มความเชื่อถือได้ในกำหนดส่งมอบ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ในสภาพแว้ดล้อมของการปฎิบัติงานจริงมักจะไม่มีโรงงานใดที่จะนำระบบดังกล่าวไปใช้อย่างเต็มรูปแบบเพียงระบบเดียว เนื่องจากมีข้อจำกัดและสภาพแวดล้อมของโรงงานที่แตกต่างกันมากมาย จึงมักจะมีการผสมผสานระบบ อื่นๆเข้ามาร่วมด้วย เช่น การประยุกต์เรื่องของ ขนาดรุ่นการสั่งเข้ามาใช้กับการสั่งซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศ หรือ การสั่งซื้อวัตถุดิบราคาถูกที่มิใช่เป็นวัสดุหลักของการผลิต  อย่างไรก็ตามในปัจจุบันได้มีความพยายามจะนำเอาข้อดีของระบบ MRP ที่มีความโดดเด่นในเรื่องของระบบสารสนเทศด้านการวางแผนและควบคุมทรัพยากรการผลิตมาผสมผสานรวมกับระบบ JIT ซึ่งมีความโดดเด่นในเรื่องการเน้นการผลิตที่มีความเป็นเลิศและการบริหารการผลิตในเชิงบูรณาการ เพื่อยกระดับความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของระบบการบริหารการผลิตให้สูงยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ในปัจจุบันกระแสของการบริหารการจัดการแบบโซ่อุปทาน ซึ่งเน้นการบูรณาการร่วมกันทั้งภายในองค์กรและระหว่างองค์กรเป็นหนึ่งเดียว ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง จึงเป็นอีกก้าวหนึ่งของพัฒนาการทางด้านการบริหารการผลิตที่จะทำให้การผลิตไหลรื่นตลอดทั้งภายในองค์กรและระหว่างองค์กรในจังหวะที่สอดคล้องกันเป็นหนึ่งเดียว และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้าในทุกจังหวะของการผลิตนับตั้งแต่ผู้ส่งมอบจนกระทั่งถึงลูกค้าปลายทาง บทบาทของ MRP และ JIT จะยิ่งเพิ่มความสำคัญต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กรได้มากยิ่งขึ้นหากได้ผสมผสานและขยายขอบเขตการดำเนินงานให้สอดรับกลับกลยุทธ์การจัดการโซ่อุปทาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น